สำนวน ตีงูให้หลังหัก ใช้ในการเปรียบเปรยถึง การจัดการกับปัญหาต่างๆเกี่ยวกับศัตรูที่ไม่เด็ดขาดพอ อาจจะทำให้ศัตรูมีกำลังคืนมาแล้วกลับมาแว้งกัด หรือทำร้ายเราในภายหลังได้ ดังนั้นการที่จะทำอะไรกับศัตรูนั้นควรที่จะทำให้เด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเอาคืนเราได้นั่นเอง
ที่มาของสำนวนนี้มาจากในสมัยโบราณมีความเชื่อว่า การตีงูให้หลังหักแต่งูไม่ตายนั้นจะทำให้งูเกิดความอาฆาต และจะตามจองล้างจองผลาญจนคนคนนั้นต้องตายไปตามกัน นั่นเป็นความเชื่อของคนในสมัยโบราณ แต่ว่าในความจริงแล้วไม่เป็นความจริงที่งูจะสามารถตามจองล้างจองผลาญคนได้ การที่คนในสมัยโบราณเชื่ออย่างนั้นก็เพราะว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงูดีพอ งูไม่ใช่ทุกชนิดที่มีอันตราย และงูส่วนมากจะไม่ทำร้ายคนถ้าไม่จวนตัวหรือโดนคุกคามแบบประชิดจนเกินไป ส่วนมากจะเลื้อยหนีเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อเจองูเราไม่สมควรที่จะตีงูหรือฆ่างูให้ตายเหมือนในสมัยโบราณ งูส่วนมากมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ช่วยจัดการกับจำนวนของประชากรของหนู และสัตว์อื่น ๆในห่วงโซ่อาหารของมัน ให้มีปริมาณที่เหมาะสม งูเองก็กินกันเองเพื่อจำกัดปริมาณด้วยเช่นงูแสงอาทิตย์ที่มักกินงูด้วยกันเอง โดยตัวของงูแสงอาทิตย์นั้นไม่ได้มีพิษเลย และไม่กัดคนด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ควรฆ่างูเด็ดขาด
- ตี หมายถึง ก. เอามือหรือไม้เป็นต้นฟาดหรือเข่นลงไป เช่น ตีเด็ก ตีดาบ, ตบเบา ๆ เช่น ตีพุง
- งู หมายถึง น. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานอันดับย่อย Serpentes ในอันดับ Squamata หัวไม่มีรูเปิดสำหรับฟังเสียง ลำตัวเรียวยาว มีเกล็ด ไม่มีขา มีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ ที่มีพิษ เช่น งูเห่าไทย ( Naja kaouthia Lesson) ที่ไม่มีพิษ เช่น งูเหลือม [ Python reticulatus (Schneider)].
- ให้ หมายถึง ก. มอบ เช่น ให้ช่อดอกไม้เป็นรางวัล, สละ เช่น ให้ชีวิตเป็นทาน, อนุญาต เช่น ฉันให้เขาไปเที่ยว
- หลัง หมายถึง น. ซีกของกายที่ตรงข้ามกับหน้าอก
- หัก หมายถึง ก. พับงอ, พับงอหรือทำให้พับให้งอเพื่อให้ขาดหรือหลุดออกจากกัน
ตัวอย่างการใช้สำนวน “ตีงูให้หลังหัก”ในประโยค
1. คนทรยศคิดร้าย วางแผนทำลายบริษัทเราได้ขนาดนั้น คุณยังจะเห็นใจให้โอกาสเขาอยู่อีก อย่างสุภาษิตที่ว่าตีงูให้หลังหัก อย่าใจอ่อนนักเลย เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตเขาอาจจะกลับมาทำร้ายเราได้อีกนะ2. การตีงูให้หลังหักแต่ไม่ตาย โบราณเชื่อว่า จะทำให้งูเกิดการอาฆาตแค้น และจะตามจองล้างจองผลาญจนคนคนนั้นต้องตายไปตามกัน.
3. มันเหมือนท่านนายกอภิสิทธิ์จะทำได้แค่ตีงูให้หลังหัก เท่านั้นแหละ. เพราะเห็นพวกเขายังเล่นไม่เลิกแถมเกาะติดชนิดกัดไม่ปล่อยเสียด้วย
4. โบราณกล่าวไว้ว่า..อย่าตีงูให้หลังหัก ต้องตีให้ตายคามือแล้วขุดหลุมฝังมันด้วยเอาให้มันไม่ได้ผุดได้เกิดเลย.
5. ประเพณีตีงูให้หลังหัก จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย จะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ ต้องตัดศึกลึกล้ำที่สำคัญ.
6. ประหนึ่งการ “ตีงูให้หลังหัก” เพื่อเอาชนะความชั่วร้ายไม่ให้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง. บาซิลิสก์อาจเป็นเพียงสัตว์ในตำนานที่ไม่มีตัวตนอยู่ในโลกแห่งความจริง.
อ้างอิงข้อมูล : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔