สำนวน ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา เป็นสำนวนสมัยโบราณที่สอน ให้รู้จักฐานะของตนและเจียมตัว เป็นคำสอนที่โบราณท่านเตือนให้คนเรารู้จักเจียมตน ประมาณตน ไม่มักใหญ่ไฝ่สูงจนเกินไป กะโหลกในสำนวนนี้คือกะโหลกกะลา ที่คนสมัยโบราณนั้นใช้ในการตักน้ำในโอ่งด้วย กะโหลก หรือ กะลาที่ใช้แทนขันตักน้ำ หรือภาชนะสำหรับตักน้ำ เนื่องจากว่าในสมัยก่อนนั้นไม่มีกระจก หรือคันฉ่องนั่นเอง การตักน้ำมาใส่แล้วดูเงาตัวเองเป็นการเปรียบเปรยถึงการย้อนมองตัวเองว่าตัวเองเป็นเช่นไร
สำนวนไทยตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา มักถูกนำไปใช้เมื่อต้องการสื่อสารให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงที่มา ฐานะ และสภาพของตนเอง และให้อยู่กับสภาพนั้น อย่าคิดจองหองหรือไฝ่ฝันอะไรที่สูงเกินตัวนั่นเอง
- ตัก หมายถึง ก. เอาภาชนะช้อนสิ่งของขึ้นจากที่เดิม เช่น ตักนํ้า ตักแกง ตักดิน.
- น้ำ หมายถึง น. สารประกอบซึ่งมีองค์ประกอบเป็นธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจนในอัตราส่วน ๑ : ๘ โดยนํ้าหนัก เมื่อบริสุทธิ์มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี กลิ่น รส มีประโยชน์มาก เช่นใช้ดื่ม ชำระล้างสิ่งสกปรก, โบราณถือว่าเป็น ธาตุ ๑ ในธาตุ ๔ คือ ดิน นํ้า ไฟ ลม, ใช้เรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะเป็นนํ้าหรือเหลวเหมือนนํ้า เช่น นํ้าตา นํ้าปลา นํ้าส้ม
- ใส่ หมายถึง ก. สวม เช่น ใส่เสื้อ ใส่กางเกง, เอาไว้ข้างในภาชนะหรือสถานที่เป็นต้น เช่น กรอกน้ำใส่ขวด นำนักโทษไปใส่คุก, บรรทุก เช่น เอาสินค้าใส่รถ.
- กะโหลก หมายถึง น. กระดูกที่หุ้มมันสมอง, ส่วนแข็งที่หุ้มเนื้อมะพร้าวหรือตาลเป็นต้น เรียกว่า กะโหลกมะพร้าว กะโหลกตาล, ภาชนะที่ทำด้วยกะโหลกมะพร้าวโดยตัดทางตาออกพอเป็นช่องกว้างเพื่อใช้ตักนํ้า
- ชะโงก หมายถึง ก. ยื่นหน้าหรือส่วนหน้าออกไป.
- ดู หมายถึง ก. ใช้สายตาเพื่อให้เห็น เช่น ดูภาพ ดูละคร, ระวังรักษา เช่น ดูบ้านให้ด้วย ไม่มีคนดูเด็ก, พินิจพิจารณา เช่น ดูให้ดี
- เงา หมายถึง น. รูปที่ปรากฏในของใสหรือเป็นมันเช่นนํ้าหรือกระจก
ซึ่งความหมายดังกล่าวอาจจะดูขัดแย้งกันกับสมัยปัจจุบันนี้ เนื่องจากว่าในปัจจุบันนี้คนทุกคน เสมอภาคและเท่าเทียม เป็นสังคมแห่งความเสมอภาคที่ยอมรับว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันไม่มีใครที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าใคร การรู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทำหน้าที่ที่มีอยู่ของตนเองให้ดีที่สุด เท่านี้ก็จะทำให้สังคมน่าอยู่และไม่ต้องมีใครดูถูกหรือดูหมิ่นใคร เพราะทุกคนในสังคมต่างมีหน้าที่และความสำคัญกันทั้งนั้น เอาง่ายๆลองคิดดูว่าถ้าไม่มีคนเก็บขยะเพราะว่าเป็นหน้าที่ที่สกปรก และต้อยต่ำแล้วจะมีใครจัดการกับขยะที่ล้นเมือง พอขยะล้นเมืองปัญหาทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมก็จะตามมาซึ่งจะส่งผลกระทบ โดยตรงต่อสุขภาพของคนเราทุกคนเท่า ๆกันไม่ว่าจะยากดีมีจน ร่ำรวยล้นฟ้า ก็ได้รับผลกระทบเท่าเทียมกันทั้งหมด ดังนั้นแล้วจงทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
ตัวอย่างการใช้งาน สำนวน ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา
- ไม่เคยตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา ที่บ้านไม่มีกระจก ไร้ยางอาย ไม่เคยมีสำนึกผิดชอบชั่วดี.
- "วันชัย" ป้อง "คสช." ดีกว่ารัฐบาลเลือกตั้งทั้งหมด ดีกว่ารัฐบาลเลือกตั้งทั้งหมด-วอนฝ่ายโจมตี “ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา” ... ดิสเครดิตให้สะใจเขา แต่ไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาตัวเองบ้าง
- "ประชาธิปัตย์" สวน "เพื่อไทย" ไล่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา เหตุฉุนกล่าวหา "ชวน หลีกภัย" ดูถูกประชาชน.
- ชูวิทย์ ร่วมวงซัด ตั๊น จิตภัสร์ ชูวิทย์แนะ ตั๊น จิตภัสร์ ให้ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา ก่อนคิดจะสมัครเป็นตำรวจ.
- “สุริยะใส” ฉุน “หมัก” แว้งกัด แนะตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาก่อนด่า ผู้ประสานพันธมิตรฯ ตอกย้ำแถลงการณ์เดินหน้านำตัวผู้ร้ายหนีอาญาแผ่นดินกลับมาขึ้นศาล เผยเตรียมสำเนาหนังสือที่จะชี้แจงต่อสถานทูตอังกฤษ ให้สถานทูตต่างๆ
- ส.ศิวรักษ์” ซัด “ประยุทธ์” ไม่เคยตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาว่าสร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมืองขนาดไหน
- “หนุ่ม ศรราม เทพพิทักษ์ ได้ทำการโพสต์เฟซบุ๊กในเชิงค่าทอบุคคลปริศนา ใจความว่า “ก่อนจะว่าใครหัดตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาตัวเองตัวเองก่อนนะจ๊ะ.
- 'ท่านเจ้าคุณ' และเหล่าเพื่อนชนชั้นสูงดูถูกเหยียดหยาม และสั่งสอนในความ “ไม่รู้จักเจียมกะลาหัว ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา”.
- “อุ๊ย นี่อะไรก็ช่างไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาเลยแหละ ช่างเพ้อพูดไปได้นี่ ฉันแน่ะจะว่าเป็นกลาง อย่าอึงไปนะหล่อน ถ้าแม้นทองกุเรปันนี้ ..
- ประยุทธแอบชอบมะนาวลูกสาวเศรษฐีใหญ่ประจำหมู่บ้าน แต่ท่านเศรษฐีมองว่าภาคินเป็นลูกชาวนาฐานะยากจน จึงไม่ยอมให้คบหากับลูกสาวของตน และได้กล่าวเตือนภาคินว่า ให้ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงาตัวเองเสียบ้าง
- ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงาสักนิด ก่อนคิดเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ความล้มเหลวส่วนใหญ่ที่นายหน้ามือใหม่มักจะเจอ ก็คือการไม่รู้จักตัวเอง คนส่วนใหญ่พอเห็นคนอื่นมีรายได้มาก ๆ ก็มักเกิดความอยากได้ใคร่มี แต่กลับไม่รู้จักตัวเองดีพอ
อ้างอิงข้อมูล : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔