สำนวน สุภาษิตไทย “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล” นั้น คนโบราณท่านใช้เพื่อสอนให้เรารู้จักการคบคน โดยสอนให้คบแต่คนดีและคนที่เป็นบัณฑิต หรือคนที่มีความรู้และความคิดที่ดี เนื่องมาจากถ้าเราคบคนดีหรือบัณฑิต บัณฑิตนั้นก็จะนำพาเราไปหาแต่สิ่งที่ดี ไม่ข้องแวะกับสิ่งเลวร้ายและอบายมุขทั้งปวง ในขณะที่คนพาลหรือคนไม่ดีนั้น จะชักนำเราไปในทางตรงกันข้าม อันหมายถึงทางที่ไม่ดี ทางที่ตกต่ำ และจะทำให้ชีวิตมีแต่ปัญหาและเรื่องที่ไม่ดีตามมาในภายหลังได้
- คบ หมายถึง ก. เข้าเป็นพวกกัน.
- คน หมายถึง น. มนุษย์.
- พาล หมายถึง ว. ชั่วร้าย, เกเร, เกะกะ, เช่น คนพาล. (ป.).
- พา หมายถึง ก. นำไปหรือนำมา.
- ไป หมายถึง ก. เคลื่อนจากตัวผู้พูด เช่น เขาไปตลาด เขาเข็นเรือไม่ไปเพราะเรือเกยตื้น, ใช้ตรงข้ามกับ มา, เป็นคำประกอบกริยาแสดงทิศทางออกจากตัวผู้พูด เช่น เขาเดินไปโรงเรียน, ในการเขียนจดหมายทางการ ใช้แสดงทิศทางออกจากตัวผู้ที่เขียนถึง เช่น ผมขอให้คุณเดินทางไปหาผมวันอาทิตย์นี้, หรือเป็นคำประกอบกริยามีความหมายว่า เรื่อยไป, ไม่หยุด, เช่น ทำไปกินไป, เป็นคำประกอบท้ายคำวิเศษณ์เพื่อเน้นความหมายให้หนักแน่นยิ่งขึ้น เช่น ขาวไป ช้าไป ดีเกินไป.
- หา หมายถึง ก. มุ่งพบ, พบ, เช่น ไปหาหมอ เพื่อนมาหา
- ผิด หมายถึง ว. ไม่ตรงกับความจริงหรือที่กำหนดนิยมไว้, ไม่ถูก, ต่างไป, แปลกไป, เช่น ผิดกฎหมาย ของสิ่งนี้ผิดกับสิ่งนั้น.
- บัณฑิต หมายถึง น. ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกำเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต).
- ผล หมายถึง น. สิ่งที่เกิดจากการกระทำ เช่น ผลแห่งการทำดี ผลแห่งการทำชั่ว (ป., ส.).
อ้างอิงจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔
คบคนพาล พาลพาไปหาผิด ภาษาอังกฤษ
สำนวน คบคนพาล พาลพาไปหาผิด เทียบเคียงได้กับสำนวน You can't soar like an eagle, when you hang out with turkeys. แปลว่า คุณไม่สามารถบินได้เหมือนนกอินทรีเมื่อออกไปเที่ยวกับไก่งวง ซึ่งเป็นสำนวนในเชิงเปรียบเทียบ ว่าถ้าคบคนเช่นใดย่อมเป็นเช่นนั้นสำนวนนี้ มีความหมายหรือคำบรรยายอยู่ในตัวแล้ว คือคบคนชั่ว คนชั่วก็ชักพาเราให้พลอยไปทำชั่วด้วย ถ้าคบคนดีมีความรู้ ก็ทำให้เราได้รับผลดีหรือได้รับความรู้ดีตามไปด้วย การเลือกคบคนดีนั้นก็จะนำพาเราไปทำในสิ่งดี ๆ เช่นหาความรู้ ทำมาหากิน หรือทำในสิ่งที่ถูกต้อง และตักเตือน ช่วยเหลือ เมื่อเราทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร พวกเขาจะแนะนำให้เราแก้ไขให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราไปคบคนพาล พวกเขาก็มักจะชวนเราให้ทำในเรื่องที่ไม่ดี ผิดกฎหมาย และเป็นการทำร้ายหรือ ลักขโมย โดยพวกเขาจะส่งเสริมให้เราทำผิด จนคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ และทำให้เราคิดว่าการทำไม่ดีนั้นใคร ๆก็ทำกัน และการคบคนประเภทนี้อาจจะนำความเดือดร้อนมาหาคุณสักวันหนึ่ง อาจจะถึงขั้นเข้าคุกเข้าตารางเลยก็ได้
ตัวอย่างการใช้งานสำนวนสุภาษิต คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล
เป็นการใช้งานสำนวนดังกล่าวในชีวิตจริง ในประโยคพูดและ ในสื่อต่าง ๆ ที่มีการใช้งาน ในรูปประโยคจริง- เอาแล้ว 'พุทธะอิสระ' เตือนแล้วไม่ฟัง 'คบคนพาล พาลพาไปหาผิด' เคยเตือนแล้ว เคยบอกแล้ว เคยชี้ให้เห็นถึงโทษภัยแห่งการคบคนพาล ว่าแม้คนพาลจะมีประโยชน์และให้ประโยชน์ แต่ก็เป็นประโยชน์ที่ต้องแลกได้แลกเสีย บางครั้งถึงกับมีผลทำให้เกิดความเจ็บปวด อีกทั้งประโยชน์ที่ได้จากคนพาล หาได้ยั่งยืนไม่
- คบคนพาล พาลพาไปหาผิด "อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ" หมายถึง การไม่คบคนพาลทั้งหลาย การคบแต่บัณฑิต การบูชาคนที่ควรบูชา ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด
- คนไทยคุ้นเคยสำนวน “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล” เป็นอย่างดี แม้บางคนอาจงงว่าถ้าเป็นคนดีแล้วคบคนพาล เราจะเป็นคนพาลแน่หรือ หรือคนพาลจะกลับมาเป็นคนดีตามเรากันแน่ อีกปัญหาหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้นิยามคำว่า “คนดี” และไม่แน่ว่าในอนาคตหากมีนิยามแล้วจะตรงกับนิยาม “คนดี” ของคนไทยมากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรก็ตามความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่าที่มีในวันนี้ยืนยันค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การคบเพื่อนนิสัยใจคอหรือความคิดอ่านแบบใด เราก็มีโอกาสจะมีความคิดอ่านเหมือนกับบรรดาเพื่อน ๆ ที่แวดล้อมตัวเราด้วย หากพวกเขาเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เราก็จะมองโลกในแง่ร้ายเช่นกัน